ทำไมต้องคิดเรื่อง "อนาคต"?
"อนาคต" ของใคร?
ถ้าเป็นไปได้ ใครๆ ก็คงอยากรู้อนาคต เพราะในวันหนึ่งอนาคตจะส่งผลถึงทุกคน
เราต่างคงฝันถึงภาพอนาคตที่ดี แต่ภาพอนาคตที่ดีไม่จำเป็นต้องมีภาพเดียวเสมอไป
อนาคตของสังคมที่ดีจึงไม่ควรเป็นอนาคตที่ถูกกำหนดจากเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม แต่ควรเป็นอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดได้ เพราะอนาคตเป็นของทุกคน และมีความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ
The Futures Project
คือ โครงการทดลองภายใต้ความริเริ่มเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) เพื่อนำเสนอแนวความคิดและริเริ่มกลไกที่เอา “อนาคต” มาเป็นเครื่องมือออกแบบและขับเคลื่อน โดยการร่วมสร้างของกลุ่มคนที่หลากหลายเพื่อนำพาสู่สังคมที่เป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Society)
โครงการดำเนินการผ่าน 3 ประเด็นหลัก
ชีวิตและความเป็นอยู่ (Life and Living)
การคมนาคม (Mobility)
การศึกษาเรียนรู้ (Learning)
ชุดสื่อสาธารณะ “อนาคต”
ชุดเครื่องมือที่นำเอาสาระเกี่ยวกับอนาคตมาทดลองสื่อสารกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านสื่อหลายรูปแบบที่เข้าใจง่าย ได้แก่
- คู่มืออนาคต [Futures Handbook] สาระสำคัญเกี่ยวกับอนาคตที่ควรรู้ของไทย ย่อยและสรุปในรูปแบบหนังสือที่ครอบคลุมทั้ง 3 ประเด็นหลัก
- หนังสือพิมพ์อนาคต [Futures Newspaper] ภาพจำลองความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในอนาคตผ่านรูปแบบสื่อที่คุ้นเคย
- คลิปวิดีโอ 100 วิสัยทัศน์อนาคตของคนไทย [100 Visionary Thais] ภาพสะท้อนมุมมองอนาคตที่หลากหลายของไทย โดยคนไทย 100 คน
- นิทรรศการ “จากอดีตสู่อนาคต” นิทรรศการนำเสนอพัฒนาการของประเทศโดยย่อและเชิญชวนให้ประชาชนร่วมการเดินทางสู่ความเป็นไปได้ของอนาคตที่หลากหลายเพื่อร่วมกันค้นหาว่าเราจะมาร่วมกันกำหนดอนาคตที่ต้องการได้อย่างไร
เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่อง “อนาคต” (Futures Public Forum)
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายที่ขับเคลื่อน และนักวิชาการที่นำเอาความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเร่ืองอนาคตมาพูดคุย แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ถกเถียง และต่อยอดสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบสังคมและประเทศที่พึงปรารถนาและเป็นของทุกคน
งานเทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต (Futures Film Festival)
กิจกรรมสร้างการรับรู้สาธารณะเรื่องอนาคตที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคม ผ่านสื่อภาพยนตร์คุณภาพและสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมจาก 3 ประเทศคือ บริติชเคาน์ซิล สหราชอาณาจักร, สถาบันเกอเธ่ เยอรมัน และ เจแปนฟาวน์เดชั่น ญี่ปุ่น
พื้นที่กลางสาธารณะร่วมสร้างอนาคต (Futures Online Platform)
กลไกในการทดลองกระบวนการร่วมสร้างอนาคต ที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรม ที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมกำหนดได้ในหลากหลายระดับทั้งในระดับความคิด การสนับสนุน จนถึงขั้นของการลงมือทำให้เกิดขึ้น
ค่ายห้องทดลองแห่งอนาคต (Futures Lab)
กิจกรรมทดลองกระบวนการร่วมสร้างอนาคตเชิงกายภาพภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ โดยนำเอาโจทย์ของการพัฒนาพื้นที่ย่านนวัตกรรมแห่งสยามมาเป็นห้องทดลอง
อนาคตกำหนดได้
โครงการเลือกนำเสนอเครื่องมือการสร้างอนาคตแบบ Backcasting ซึ่งคือการใช้ภาพอนาคตที่เป็นไปได้และอยากให้เป็น เพื่อตั้งคำถามและหาแนวทางปฏิบัติว่าจะต้องร่วมกันทำอย่างไรเพื่อให้ภาพนั้นเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับ Forecasting ที่เราคุ้นเคยซึ่งเป็นการประเมินอนาคตจากสภาพอดีตไปสู่ปัจจุบัน